พะยูง (Dalbergiacochinchinen Pierre) เป็นไม้เนื้อแข็ง พบเฉพาะในประเทศไทย ลาว กัมพูชาคนโบราณเชื่อว่าเป็นไม้มงคล มีความศักดิ์สิทธิ์ นิยมปลูกในบ้านเพื่อเสริมดวงและบารมีของเจ้าของบ้าน หากแต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีความต้องการไม้พะยูงจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาไม้พะยูงสูงขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว จนเกิดการลักลอบตัดไม้พะยูงมากขึ้น และบ่อยขึ้น จนทำให้ไม้พะยูงได้สูญพันธุ์จากประเทศลาวและกัมพูชาหมดแล้ว ดังนั้นเราจึงอาจกล่าวได้ว่า ณ ปัจจุบัน พื้นที่อีสานคือป่าพะยูงผืนสุดท้ายของโลก
มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ร่วมกับจังหวัดมุกดาหาร และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดมุกดาหาร ได้ชักชวนประชาชนในจังหวัดมุกดาหารเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูไม้พะยูงและป่าของจังหวัดมุกดาหาร เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ไม้พะยูง และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มและดูแลรักษาไม้พะยูงอย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดให้มีการ
1) แจกกล้าไม้พะยูงที่มีคุณภาพจำนวน 99,999 ต้น ให้ประชาชนและหน่วยงานที่สนใจรับไปปลูก พร้อมติดตามผล
2) อบรมเพาะกล้าไม้พะยูงเพื่อสร้างรายได้
3) วิจัยและติดตามผลแปลงทดลองร่วมกับนักเรียนชั้นประถมศึกษา
พื้นที่โครงการ
1. แปลงทดลองการวิจัยปลูกไม้พะยูงและไม้มีค่าบ้านดอนส้มโฮง ตำบลดงมอน อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร จำนวนพื้นที่ 9 ไร่
2. แปลงทดลองการวิจัยปลูกไม้พะยูงและไม้มีค่าบ้านดงมอน ตำบลดงมอน อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร จำนวนพื้นที่ 2 ไร่
3. พื้นที่ชุมชน วัด โรงเรียน สถานที่ราชการและเอกชนในจังหวัดมุกดาหาร
ต้นไม้ที่ปลูก
ไม้พะยูงจำนวน 99,999 ต้น
ระยะเวลาดำเนินงาน
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557-2558
หน่วยงานร่วมจัด
จังหวัดมุกดาหาร และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดมุกดาหาร
ผู้สนับสนุนโครงการ
1. มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์
2. มูลนิธิกรุงเทพประกันภัย
3. บริษัท อาหารยอดคุณ จำกัด
การวิจัยของโครงการ
พื้นที่ปลูกทั้งหมด 11 ไร่ โดยใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นจำนวน 9 ชนิด ได้แก่ เพกา ยางนา ตะเคียนทอง พะยูง มะค่าโมง ประดู่ป่า แดง เสลา สัก ทำการวิจัยติดตามผลโดยแบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
1. แปลงปลูกป่าวิจัยติดตามผล แบบที่ 1 ปลูกเสริมป่า พื้นที่จำนวน 9 ไร่ บ้านดอนส้มโฮง
1) แปลงควบคุม 1 ไร่ (40X40 เมตร) ไม่ปลูกและไม่ตัดต้นไม้ธรรมชาติเดิม
2) แปลงเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต ทำการทดลองแบบ randomized complete block design (RCBD) เพื่อทดสอบและเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ทั้ง 9 ชนิด จำนวน 135 ต้น
2. แปลงปลูกป่าเพื่อการติดตามผล แบบที่ 2 ปลูกฟื้นฟู พื้นที่จำนวน 2 ไร่ บ้านดงมอน
1) แปลงเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต 1 ไร่ (40X40 เมตร) จำนวน 500 ต้น/ไร่
2) แปลงที่ไม่ได้ทำการเก็บข้อมูล 1 ไร่ (40X40 เมตร) จำนวน 499 ต้น/ไร่
การติดตามผล
1. แปลงปลูกป่าวิจัยติดตามผล แบบที่ 1 ปลูกเสริมป่า พื้นที่จำนวน 9 ไร่ บ้านดอนส้มโฮง
เนื่องจากในปี 2558-2559 เป็นปีที่แห้งแล้งจัดทั่วประเทศไทย และมีไฟป่าเข้ามาทำลายกล้าไม้กว่าครึ่งในแปลง ทำให้อัตรารอดโดยเฉลี่ยต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 60 ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดีจากการติดตามผลกลับพบว่า สักมีอัตรารอดสูงถึง 50% และมีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 3.4 เมตร เนื่องจากสักเป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีหลังโดนไฟป่า
การค้นพบนี้เน้นย้ำความสำคัญของการป้องกันไฟป่าด้วยการทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ ทำแนวกันไฟ มีการเฝ้าระวังไฟตลอดหน้าแล้ง และมีแผนรับมือหากเกิดไฟป่าขึ้น นอกจากนั้นเรายังสามารถคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่ทนไฟหรือเจริญเติบโตได้ดีหลังไฟเข้า เช่น สัก มาเป็นพันธุ์ไม้หลักในการฟื้นฟูป่าในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าอีกด้วย
2. แปลงปลูกป่าเพื่อการติดตามผล แบบที่ 2 ปลูกฟื้นฟู พื้นที่จำนวน 2 ไร่ บ้านดงมอน เก็บข้อมูลการเจริญเติบโตของกล้าไม้ทั้งหมด 5 ครั้ง สรุปได้ว่า พันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่มีอัตรารอดที่น่าพอใจ คือ ประดูป่า มีอัตรารอดเฉลี่ย 65%, แดง 58% และสัก 58% และชนิดที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่นี้ได้แก่ ยางนา มีความสูงถึง 2.2 เมตร, แดง 1.8 เมตร และเพกา 1.7 เมตร เนื่องจากลักษณะของพื้นที่แปลงปลูกเป็นดินทราย ความชื้นน้อย สภาพอากาศค่อนข้างแล้ง จึงทำให้กล้าไม้บางชนิดเจริญเติบโตได้ไม่ดี จากการติดตามผลสามารถสรุปได้ว่าการคัดเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่มีความสำคัญอย่างมากในการฟื้นฟูป่าให้ได้ผลสัมฤทธิ์สูงที่สุด
กราฟแสดงผลอัตราการรอด แปลงบ้านดงมอน
กราฟแสดงผลเฉลี่ยความสูง แปลงบ้านดงมอน
กราฟแสดงผลเฉลี่ยการเจริญเติบโตของคอราก (โคนต้น) แปลงบ้านดงมอน
ตรวจเยี่ยมไม้พะยูง
มูลนิธิฯ ได้ไปตรวจเยี่ยมติดตามผลในพื้นที่ 13 แห่ง ที่ชาวบ้านรับกล้าไม้นำกลับไปปลูก ได้แก่ วัด โรงเรียน หน่วยงานราชการ และสวนของชาวบ้าน พบว่ามีการปลูกแบบสวนผสมและปลูกเชิงเดี่ยว โดยได้ข้อสรุปว่าปัจจัยที่ทำให้กล้าพะยูงเติบโตได้ดีคือ การบำรุงรักษาดูแลรดน้ำและใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง
ความสำเร็จของโครงการ
โครงการนี้เป็นโครงการที่ชาวมุกดาหารเข้าร่วมกันอย่างกว้างขวาง กระตุ้นให้เกิดกระแสอนุรักษ์ไม้พะยูง และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มและดูแลรักษาไม้พะยูงอย่างเป็นรูปธรรม
19 Soi Krungthep Kreetha 8 Intersection 16,
Hua Mark, Bang Kapi,
Bangkok 10240, Thailand
Tel: 0839146950, 0839146951, 0632320666
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.