ป่าชายเลนเปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำทางทะเลของไทยเพราะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ทั้งยังเป็นเกราะป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและช่วยรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง การฟื้นฟูป่าชายเลนเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเข้าร่วมได้ตลอดปี สะดวก และสนุก จึงทำให้การปลูกป่าชายเลนเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมและสร้างความประทับใจในการอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับคนทุกเพศทุกวัย
พื้นที่โครงการ
1. บริเวณสะพานสุขตา สถานที่พักตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการ
จำนวนพื้นที่ 40 ไร่
ระยะเวลาดำเนินงาน ปี พ.ศ.2542
2. บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสีย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
จำนวนพื้นที่ 232 ไร่
ระยะเวลาดำเนินงาน ปี พ.ศ.2544-2547
หน่วยงานร่วมจัด กิจการร่วมค้า NVPSKG (N คือ บริษัท นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, V คือ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, P คือ บริษัทประยูรวิศการช่าง จำกัด, S คือ บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, K คือ บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด และ G คือ บริษัทเกตเวย์ ดิเวลอปเมนต์ จำกัด)
3. บริเวณคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
จำนวนพื้นที่ –
ระยะเวลาดำเนินงาน ปี พ.ศ.2547
หน่วยงานร่วมจัด ชุมชนในเขตบางขุนเทียน เพื่อร่วมฉลองในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ
4. ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน ตำบลตลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
ศูนย์อนุรักษ์คลองโคนได้ร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆ เริ่มปลูกป่าตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2534 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ร่วมพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 6,000 กว่าไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นป่าลำพู แสม ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540-2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินและทรงร่วมปลูกป่า เป็นจำนวนถึง 6 ครั้ง
ในปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนของบ้านคลองโคนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง มีสัตว์น้ำตามชายฝั่งมากมาย ทำให้เกิดมีอาชีพทางการประมงของคนในพื้นที่ที่สามารถเลี้ยงชีวิตได้อย่างพอเพียง มีการรวมกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มชาวเรือ กลุ่มทำอาหาร กลุ่มกระเตง (บ้านพักกลางทะเลสำหรับเฝ้าฟาร์มหอย) และมีการพัฒนาสถานที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เสริมสร้างความเข้มแข็งและรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชน
จำนวนพื้นที่ 100 ไร่
ระยะเวลาดำเนินงาน ปี พ.ศ.2551-ปัจจุบัน
หน่วยงานร่วมจัด ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนคลองโคน
5. บ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
บ้านขุนสมุทรจีนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เดินทางเข้าถึงด้วยทางเรือเท่านั้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันชุมชนประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จึงมีแนวทางในการสร้างเขื่อนแนวหินป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งควบคู่กับการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแนวชะลอคลื่นรักษาพื้นที่ชุมชนและฟื้นฟูระบบนิเวศ
จำนวนพื้นที่ –
ต้นไม้ที่ปลูก จำนวนกว่า 2,000 ต้น
ระยะเวลาดำเนินงาน ปี พ.ศ.2557-ปัจจุบัน
หน่วยงานร่วมจัด ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน
ผู้สนับสนุนโครงการ บริษัท ยูพีเอส พาร์เซล ดิลิเวอร์รี่ เซอร์วิส จำกัด
ความสำเร็จของโครงการ
1. มีพื้นที่ป่าชายเลนกลับคืนมา พร้อมกับสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน
2. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประทับใจที่ได้ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ และสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน
ป่าชายเลน… ขุมทรัพย์ชายฝั่งทะเล
โดย ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ความหมายและการกระจายพื้นที่ป่าชายเลน
ป่าชายเลนเป็นสังคมพืชพบอยู่ทั่วไปบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณปากอ่าว ลำคลอง ทะเลสาบ และรอบเกาะแก่งต่างๆ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำทะเลท่วมถึง หรือเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นบริเวณพื้นที่น้ำกร่อยทั้งในแถบโซนร้อน และพื้นที่บางส่วนของกึ่งโซนร้อน “ป่าชายเลน” หรือชาวบ้านที่อาศัยบริเวณริมฝั่งทะเลมักเรียกกันติดปากว่า “ป่าโกงกาง” เนื่องจากมีไม้โกงกางเป็นไม้เด่นและขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง เมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศบริเวณชายฝั่งป่าชายเลนเป็นเสมือนพื้นที่หรือเขตแนวที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่บนบกกับทะเลนั่นเอง ซึ่งนับเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งในแง่นิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง
ป่าชายเลนของโลกขึ้นอยู่ทั้งหมดประมาณ 100 ประเทศ โดยส่วนใหญ่จัดขึ้นกระจัดกระจายอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเขตร้อน ตั้งแต่ประเทศอเมริกาตอนใต้ อเมริกากลาง อัฟริกา เอเชีย และหมู่เกาะแปซิฟิค ป่าชายเลนสามารถขึ้นอยู่และเจริญเติบโตได้บ้างในเขตกึ่งร้อน เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ พื้นที่ทั้งหมดของป่าชายเลนของโลก พบว่ามีประมาณ 113.4 ล้านไร่ เขตร้อนอัฟริกาประมาณ 21.3 ล้านไร่ และในเขตร้อนแถบเอเชียรวมถึงออสเตรเลียและหมู่เกาะแปซิฟิคประมาณ 52.5 ล้านไร่ ประมาณ 64.4 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมดของโลก อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดในโลก มีพื้นที่ประมาณ 26.57 ล้านไร่ และรองลงมาคือประเทศบราซิลมีประมาณ 15.63 ล้านไร่ ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ.2539 จากการสำรวจภาพถ่ายดาวเทียมพบว่ามีป่าชายเลนอยู่เพียงประมาณ 1.04 ล้านไร่เท่านั้น ป่าชายเลนของประเทศจะขึ้นกระจายตลอดชายฝั่งทะเล สำหรับภาคตะวันออกตั้งแต่จังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี จนถึงฉะเชิงเทรา และภาคกลางจากสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทั้งสองภาครวมแล้วมีพื้นที่ประมาณเพียง 10.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สำหรับภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันตกของอ่าวไทย ตั้งแต่ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา จนถึงปัตตานี และด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน จากระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง จนถึงสตูล มีพื้นที่มากที่สุดถึง 89.2 เปอร์เซ็นต์ของป่าชายเลนทั้งหมดของประเทศ
องค์ประกอบของป่าชายเลน
ป่าชายเลนเป็นแหล่งรวมของสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ทั้งพืชและสัตว์ พันธุ์ไม้ที่พบในป่าชายเลนของประเทศไทยประมาณ 60 ชนิด และที่สำคัญได้แก่ ไม้โกงกาง แสม ประสัก โปรง ถั่ว ลำพู ลำแพน ฝาด ตาตุ่ม เป็นต้น และยังพบพวกสาหร่ายหลายชนิดอาศัยตามลำต้น รากหายใจและรากอากาศ สำหรับสัตว์น้ำมีทั้งปลา กุ้ง หอย ปู โดยพบว่าปลามีถึง 72 ชนิด ทั้งเป็นปลาที่อาศัยอยู่ประจำ ปลาอาศัยอยู่ชั่วคราว ปลาที่มากับกระแสน้ำ และปลาที่พบในบางฤดูกาล และชนิดที่สำคัญ ได้แก่ ปลากระบอก ปลากระพง ปลานวลจันทร์ ปลากุเรา ปลากะรัง และปลาตีน เป็นต้น
สำหรับกุ้งมีประมาณ 15 ชนิด และชนิดที่สำคัญ ได้แก่ กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ กุ้งกะเปาะ กุ้งหัวมันและกุ้งฝอย เป็นต้น ส่วนปูมีประมาณ 30 ชนิด ที่สำคัญได้แก่ กลุ่มปูแสม ปูก้ามดาบ และปูทะเล ซึ่งเป็นปูที่นิยมรับประทานและมีราคาสูง สำหรับหอยในป่าชายเลนมีทั้งประเภทสองฝา และฝาเดียว พบทั้งที่เกาะติดกับราก ลำต้น กิ่งและใบ ส่วนใหญ่จะเป็นหอยฝาเดียวประมาณ 22 ชนิด และที่สำคัญคือหอยขี้กา และหอยกระทิ ส่วนหอยสองฝามีเพียง 4 ชนิด และที่สำคัญคือหอยนางรม
นอกจากนั้น ป่าชายเลนยังเป็นที่อยู่ของพวกนก และสัตว์ประเภทอื่นอีกนานาชนิด ซึ่งนกที่สำคัญได้แก่ นกยางกรอก นกเหยี่ยว นกปากเหมือนช้อนสีดำ และสัตว์อื่นๆ ได้แก่ ลิงแสม ค้างคาว นาก งู กิ้งก่า เต่า และแมลงอีกนานาพันธุ์ ส่วนสัตว์ขนาดเล็ก เช่น จุลินทรีย์ แพลงตอนพืช และแพลงตอนสัตว์มีเป็นจำนวนมาก ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่าป่าชายเลนเป็นแหล่งที่อยู่ของพันธุ์พืช และสัตว์นานาชนิดอย่างสมบูรณ์
คุณค่าและความสำคัญของป่าชายเลน
คุณค่าและความสำคัญของป่าชายเลนมีมากมายหลายประการ และเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายพอสรุปไว้ดังนี้ คือ “ป่าชายเลน” เป็นเสมือน “ธนาคารไม้” ที่สามารถเก็บเกี่ยวนำมาใช้ทำฟืน ทำถ่าน และการก่อสร้าง “ป่าชายเลน” เป็นเสมือน “บ้าน” หรือที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดบริเวณชายฝั่งทะเล ทั้งนี้เนื่องจากเป็นแหล่งรวมของพันธุ์ไม้และสัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะสัตว์น้ำยังใช้ป่าชายเลนเป็นที่วางไข่ อนุบาลตัวอ่อนและหลบภัยอีกด้วย “ป่าชายเลน” เป็นเสมือน “ครัว” คือแหล่งปรุงอาหารจำนวนมหาศาล จากใบไม้ ซากไม้ที่ร่วงหล่นแต่ละปีและสลายตัวเป็นธาตุอาหารปริมาณมากสำหรับต้นไม้และสัตว์น้ำนานาชนิด เพื่อการเจริญเติบโต
“ป่าชายเลน” ยังเป็นเสมือน “โรงบำบัดน้ำเสีย” ที่มีประสิทธิภาพและใช้เงินลงทุนต่ำบริเวณชายฝั่งทะเล เนื่องจากพันธุ์พืชป่าชายเลนมีลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะระบบรากที่ช่วยดูดซับสิ่งปฏิกูลต่างๆ และฟอกน้ำเสียให้เป็นน้ำสะอาดได้ ป่าชายเลนสร้างความสดชื่นและอากาศบริสุทธิ์ของชายฝั่งทะเล ดังนั้น “ป่าชายเลน” เปรียบเสมือน “โรงฟอกอากาศ” ที่สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มปริมาณออกซิเจนในอากาศให้สดชื่นโดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง “ป่าชายเลน” เป็นเสมือน “โรงพยาบาล” ที่สามารถนำพืชและสัตว์หลายชนิดไปใช้เป็นสมุนไพรกับชุมชนชายฝั่งทะเล
“ป่าชายเลน” เป็นเสมือน “กำแพงชายฝั่ง” ที่สามารถป้องกันดินพังทลายและลมพายุที่รุนแรง เช่นกรณีสึนามิ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ป่าชายเลน” เป็นเสมือน “ห้องเรียนธรรมชาติ” ใช้เพื่อการศึกษาวิจัยธรรมชาติชายฝั่งทะเล และสุดท้าย “ป่าชายเลน” เป็นเสมือน “สะพาน” ที่เชื่อมต่อระหว่างบกกับทะเลในการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลและระบบนิเวศใกล้เคียง คือระบบนิเวศหญ้าทะเลและปะการัง
และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางและต้องจดจำตลอดไปคือ “ป่าชายเลน” เป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” อย่างยั่งยืนของราษฎรที่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเลและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อการดำรงชีวิต ด้วยความสำคัญและคุณค่าของป่าชายเลนดังกล่าวที่สรุปมาทั้งหมดพอจะกล่าวได้ว่า “ป่าชายเลน” เป็นทรัพยากรธรรมชาติหรือขุมทรัพย์ของชายฝั่งอย่างแท้จริง ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล
การลดลงของพื้นที่
และความเสื่อมโทรมของป่าชายเลน
ป่าชายเลนของประเทศไทยเป็นที่น่าเสียดายได้ถูกตัดฟันทำลายเพื่อกิจกรรมต่างๆ อย่างกว้างขวางและต่อเนื่องมาโดยตลอด เช่น การทำนากุ้ง ทำเหมืองแร่ สร้างที่อยู่อาศัย สร้างถนนหนทาง สถานที่ราชการ เป็นต้น กล่าวคือในปี พ.ศ.2504 ประเทศมีป่าชายเลนอยู่ประมาณ 2.3 ล้านไร่ และได้ถูกทำลายแปรสภาพลงเรื่อยๆ จนในปี พ.ศ.2536 พบว่ามีป่าชายเลนของประเทศเหลืออยู่เพียง 1.04 ล้านไร่เท่านั้น การทำลายป่าชายเลนไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดก็ตาม นอกจากจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการสูญเสียพื้นที่ และความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้แล้ว ยังทำให้ปริมาณและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนบริเวณชายฝั่ง ตลอดจนสัตว์น้ำที่เลี้ยงตามชายฝั่งลดลงไปด้วย และในที่สุดจะส่งผลไปสู่การขาดความสมดุลของชายฝั่ง นั่นหมายถึงมีผลกระทบโดยตรงต่อ “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของชุมชนชายฝั่งและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมด้วย
นโยบายการจัดการทรัพยากรป่าชายเลน
นโยบายการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนเพื่อให้เอื้อประโยชน์อย่างยั่งยืนได้นั้นจะต้องจัดการใน 3 เรื่องหลักคือ การสร้างและฟื้นฟู การคุ้มครองและป้องกัน และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ในด้านการสร้างและฟื้นฟู รัฐจะต้องมีการสำรวจพื้นที่ให้ถูกต้องชัดเจนว่ามีพื้นที่ส่วนไหนสามารถปลูกขึ้นใหม่ได้ เช่น หาดเลนงอกใหม่ และพื้นที่เสื่อมโทรม ซึ่งจะต้องฟื้นฟูให้มีสภาพสมบูรณ์ขึ้น ในด้านการคุ้มครองและป้องกัน รัฐจะต้องกำหนดให้ชัดเจน พื้นที่ส่วนไหนที่มีความสำคัญต่อการประมง ต่อการพังทลายของชายฝั่ง จะต้องกำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครอง และขณะเดียวกันจะต้องมีแผนป้องกันที่รัดกุมอย่างมีประสิทธิภาพ
และประการสุดท้าย การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน รัฐจะต้องศึกษาระบบการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ควบคู่กับการอนุรักษ์ป่าชายเลนด้วย เช่น ระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำควบคู่กับป่าชายเลน การเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรป่าชายเลน เป็นต้น การจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจะประสบผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีความร่วมมือและมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคีโดยพร้อมเพรียงกัน
“ป่าชายเลนให้กำเนิดหลายชีวิตโปรดอย่าคิดทำลาย”
19 Soi Krungthep Kreetha 8 Intersection 16,
Hua Mark, Bang Kapi,
Bangkok 10240, Thailand
Tel: 0839146950, 0839146951, 0632320666
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.