โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ เกิดขึ้นจากความห่วงใยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ต่อสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย จึงเกิดเป็นมติคณะรัฐมนตรีขึ้นในปี พ.ศ.2537 ที่ให้มีการระดมกำลังจากภาครัฐและเอกชนเพื่อฟื้นฟูป่าในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีสภาพเสื่อมโทรมจำนวนรวม 5 ล้านไร่ เพื่อถวายเป็นพระราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้มีโอกาสเข้าร่วมดำเนินการฟื้นป่ารวมพื้นที่จำนวน 80,000 ไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด และใช้เวลารวมกว่า 15 ปี และหนึ่งในนั้นคือแปลงฟื้นฟูป่าที่มีพื้นที่ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คิดเป็นพื้นที่ 54,800 ไร่ ในจังหวัดอุตรดิตถ์และแพร่
เพื่อยืนยันผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานโครงการนี้ได้กำหนดระยะเวลาของการฟื้นฟูป่าไว้ที่อย่างน้อย 3 ปี คือปลูกและดูแลรักษาต้นไม้อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะส่งมอบให้กรมอุทยานดูแลต่อจนครบ 10 ปี ด้วยขนาดของโครงการและระยะเวลาดำเนินการที่ต่อเนื่องกว่า 15 ปี ทำให้มีประชาชนเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้เสริมคุณภาพชีวิต จนสามารถส่งลูกเรียนจบมหาวิทยาลัย และดึงผู้คนกลับสู่ท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก และเกิดการกลับคืนมาของป่าผืนใหญ่ที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก
หน่วยงานร่วมจัด
กรมป่าไม้, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก), สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่), กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พันธุ์ไม้ที่ปลูกในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ
การปลูกป่าตามโครงการมีเป้าหมายหลักที่จะฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนมาเป็นสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด จึงมิได้มีการกำหนดชนิดพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งไว้เป็นการตายตัว ซึ่งต่างจากการปลูกสวนป่าโดยทั่วไป
การคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่จะปลูกในพื้นที่เป้าหมาย จะคำนึงถึงความเหมาะสม และความสามารถเจริญเติบโตของต้นไม้นั้น ๆ เป็นหลัก โดยจะทำการปลูกต้นไม้หลาย ๆ ชนิดคละกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้เช่นเดียวกับป่าธรรมชาติ
ตัวอย่างชนิดพันธุ์ไม้ที่ปลูกในโครงการ ได้แก่ กรวยป่า กฤษณา กระโดน กัลปพฤกษ์ กาฬพฤกษ์ ขานาง ขี้เหล็กบ้าน คูน ฉนวน แดง ตะแบกนา ตะเคียนทอง นนทรีบ้าน ประดู่ป่า พะยอม พิกุล เพกา มะเกลือ มะขามป้อม มะค่าโมง สนสามใบ สะเดาเทียม สารภี เสลา สำโรง อินทนิลน้ำ เป็นต้น
1. โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ FPT 3/2 อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
พื้นที่โครงการ
อยู่ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ตำบลอีปุ่ม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในเขตพื้นที่การปกครองของบ้านตาวตาด-บ้านโนนพัฒนา อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย และบ้านห้วยผักกูด ตำบลศิลา อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อนเป็นลูกคลื่นระดับความสูงประมาณ 700-800 เมตร เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของแม่น้ำ 2 สาย คือแม่น้ำเลย และแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นลุ่มแม่น้ำสำคัญที่คอยหล่อเลี้ยงคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ตลอดจนกรุงเทพมหานคร
จำนวนพื้นที่
พื้นที่ 3 แปลง รวม 12,200 ไร่
ระยะเวลาดำเนินงาน
ตั้งแต่ปีพ.ศ.2537-2543
ผู้สนับสนุนโครงการ
1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 6,000 ไร่
2. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 6,000 ไร่
3. ห้างหุ้นส่วนติลลิกี้ แอนด์ กิบบิ้นส์ ทนายความ จำนวน 200 ไร่
2. โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ FPT 15/2 อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก
พื้นที่โครงการ
ตั้งอยู่ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยง-ภูทอง บริเวณบ้านน้ำคับ-น้ำจวง ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่เกิดจากการบุกรุกที่ทำกินของราษฎรรอบนอก
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนระดับความสูงประมาณ 700-850 เมตร เป็นป่าต้นน้ำแม่น้ำน่านที่หล่อเลี้ยงคนไทยในจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์
จำนวนพื้นที่
พื้นที่ 3 แปลง รวม 13,000 ไร่
ระยะเวลาดำเนินงาน
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 – 2542
ผู้สนับสนุนโครงการ
1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 10,000 ไร่
2. บงจ.กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,500 ไร่
3. มูลนิธิแม่บ้านอาสา จำนวน 500 ไร่
3. โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ FPT 5, FPT 7 และ FPT 9 อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
พื้นที่โครงการ
เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา บ้านน้ำต๊ะ บ้านน้ำลี ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน ยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 400-1,400 เมตร เป็นไร่ร้างเก่าจากการบุกรุกของราษฎร ไม่มีไม้ใหญ่และลูกไม้เดิมที่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ ทำให้ดินเสี่ยงต่อการพังทลายค่อนข้างสูง พร้อมทั้งปกคลุมไปด้วยต้นหญ้าคา และต้นไม้กวาด (ต้นแขม)
จำนวนพื้นที่
แปลง FPT 5 จำนวน 33,000 ไร่
แปลง FPT 7 จำนวน 20,000 ไร่
แปลง FPT 9 จำนวน 17,600 ไร่
ระยะเวลาดำเนินงาน
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 – 2550
ผู้สนับสนุนโครงการ สมาคมธนาคารไทย ประกอบด้วย
1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 17,752 ไร่
2. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 10,000 ไร่
3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จำนวน 6,744 ไร่
4. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 6,272 ไร่
5. ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 6,136 ไร่
6. ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) จำนวน 3,376 ไร่
7. ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,952 ไร่
8. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 808 ไร่
9. ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) จำนวน 760 ไร่
ความสำเร็จของโครงการ
1. พื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น
จากการสำรวจพื้นที่ป่าจากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ มีส่วนทำให้พื้นที่ป่าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย กล่าวคือในปี พ.ศ.2536 ก่อนเริ่มโครงการ ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 133,552 ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ.2543 หลังจากมีการดำเนินโครงการแล้ว พื้นที่ป่าของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 164,897 ไร่
มูลนิธิฯ มีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศไทย จำนวนรวม 80,000 ไร่ ภายใต้โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ
2. สร้างรายได้ให้กับประชาชน
กล่าวเฉพาะโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิฯ ทั้ง 3 โครงการ สามารถสร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่จำนวน 1,300 ครอบครัว สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการเฉลี่ยแล้วประมาณ 30,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี
FPT ย่อมาจาก Forest Plantation Target หมายถึง การปลูกป่าในพื้นที่อนุรักษ์ตามพื้นที่เป้าหมายที่กรมป่าไม้กำหนด โดยผ่านความเห็นชอบจากสภาตำบลและจังหวัด พื้นที่ปลูกป่ามีความสำคัญในฐานะที่เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสายสำคัญ ป่าพรุและป่าชายเลนหลายพื้นที่เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชและสัตว์ หากปัจจุบันผืนป่าในพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นเทือกเขาหัวโล้นหรือป่าที่เสื่อมโทรมมากในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
เลขที่ 19 ซอยกรุงเทพกรีฑา 8 แยก 16
แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ
กรุงเทพมหานคร 10240
โทรศัพท์ : 0839146950, 0839146951, 0632320666
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.